Healthtech Thailand
กัญชากับการรักษาโรค อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่กำลังมาเเรง

ในช่วงที่ผ่านมากัญชานั้นถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในฐานะพืชเศรษฐกิจที่กำลังมาแรง เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างปลอดภัย และมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ จึงทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์จนเกิดเป็นนวัตกรรมการรักษาโรคใหม่ ๆ จนสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล
หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน กัญชาก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากเท่าทุกวันนี้ จนในปี ค.ศ. 1839 คุณหมอ William O'Shaughnessy ชาวอังกฤษที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศอินเดีย ได้ค้นพบว่ากัญชาสามารถนำมาใช้ประกอบการรักษาได้ จึงทำให้การใช้กัญชาในวงการแพทย์จึงแพร่หลายมากขึ้นในแถบยุโรป
แต่กัญชานั้นก็มีหลากหลายชนิด อย่างกัญชาที่พบในประเทศไทยนั้นมีชื่อว่า Cannabis Sativa ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เติบโตได้ดีกับสภาพอากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา โดยก่อนหน้านี้กัญชาถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสารเสพติดให้โทษ แต่เมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาก็ได้มีการอนุญาตอย่างเป็นทางการให้มีการใช้กัญชาได้ในกรณีที่จำเป็นทั้งทางการรักษาและการวิจัยได้เหมือนกับในหลาย ๆ ประเทศเช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมันนี และอิตาลี เป็นต้น ซึ่งสรรพคุณของกัญชานั้นมีค่อนข้างหลากหลายไม่ว่าจะเป็น
ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด
เพิ่มความอยากอาหารให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคเอดส์
ลดอาการปวดทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง
ลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และลดอาการปลอกประสาทเสื่อม
ช่วยควบคุมอาการลมชักโดยไม่เป็นพิษต่อระบบประสาท (ผลข้างเคียงคือง่วงนอน)
ลดความดันในตาของผู้ป่วยต้อหิน (ส่งผลในระยะสั้นและยังมีผลข้างเคียง)
ป้องกันและรักษาอาการสมองฝ่อ
คลายอาการวิตกกังวล
ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งและเนื้องอกมะเร็ง
แต่ถึงกัญชาจะมีประโยชน์มากแค่ไหน ก็ควรต้องใช้อย่างระมัดระวังและอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้วย รวมถึงศึกษาข้อควรระวังต่าง ๆ เช่น
ไม่ควรใช้ในกลุ่มสตรีมีครรภ์ ผู้อยู่ระหว่างให้นมบุตร และผู้ป่วยจิตเภท
การใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคความดันควรอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิด
ปริมาณในการใช้ควรเริ่มจากขนาดต่ำ คอยสังเกตอาการ แล้วจึงเพิ่มปริมาณหากจำเป็น
มีอาการข้างเคียงในการใช้ยา โดยอาการที่พบบ่อยคือ ง่วงซึม มึนงง ปวดศีรษะ การมองเห็นไม่ชัดเจน ปากแห้ง วิตกกังวล มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ คลื่นไส้ มีความผิดปกติของการรับรู้
ด้วยสรรพคุณและประโยชน์ทั้งหมดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลาย ๆ คนมองว่ากัญชานั้นจะเป็นพืชที่มาช่วยพัฒนาวงการแพทย์และการรักษาได้ไม่มากก็น้อย หากได้รับการศึกษาวิจัยและประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเหมาะสม