Healthtech Thailand
"ใบกระท่อม"ว่าที่พืชเศรษฐกิจ จากต้นตำรับยาพื้นบ้านสู่ยาในอนาคต

HTT พร้อมเสิร์ฟข่าวเช้า อัปเดตข่าวสารการแพทย์และสุขภาพทุกเช้าวันจันทร์กับ #HTTMondayNews ในวันนี้จะพาไปรู้จักกับว่าที่พืชเศรษฐกิจอย่าง ‘ใบกระท่อม’ ต้นตำรับยาพื้นบ้านที่ใช้มาแต่โบราณ สู่การพัฒนาให้เป็นยารักษาโรคในปัจจุบัน
.
หลังมีการปลดล็อก ‘พืชกระท่อม’ ให้สามารถปลูกเพื่อกิน ซื้อและขายได้อย่างเสรี ว่าที่พืชเศรษฐกิจชนิดนี้ก็เป็นที่สนใจและกำลังสร้างรายได้ให้เกษตรกรท่ามกลางสภาวะยากลำบาก ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่กระท่อมได้รับความนิยม ด้วยสรรพคุณทางยาที่เต็มเปี่ยม ทำให้ในอดีตแพทย์พื้นบ้านใช้พืชกระท่อมเป็นยาบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น แก้ท้องเสีย, แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, แก้ไอ ไปจนถึงการใช้รักษาโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้พืชกระท่อมยังเป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้านที่ต้องทำงานหนัก โดยใช้กันอย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงทางภาคใต้ของบ้านเรา เพราะเมื่อกินแล้วช่วยให้กระปรี้กระเปร่า คึกคัก ทำงานได้นานขึ้นโดยไม่รู้สึกเหนื่อยล้า
.
ถ้าดีขนาดนี้แล้วก่อนหน้านี้จะห้ามใช้ทำไมล่ะ? นั่นก็เพราะกระท่อมก็มีโทษหากใช้แบบไม่ถูกวิธี หรือใช้เป็นเวลานานในปริมาณที่มากเกินไป ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นก็ไล่ระดับไปตั้งแต่ท้องผูก, คลื่นไส้, นอนไม่หลับ ไปจนถึงก้าวร้าว, แขนขากระตุก, มีอาการทางจิต, เห็นภาพหลอน ยิ่งหากหยุดใช้อาจทำให้ไม่มีแรงทำงาน ปวดตามข้อ ตามกระดูกได้ ซึ่งการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดกฎหมายควบคุมการปลูก ซื้อและขายพืชกระท่อมขึ้นในบ้านเรา ก่อนจะตามมาด้วยการถูกบัญญัติว่าเป็นยาเสพติดประเภท 5 ในภายหลัง จนกระทั่ง 78 ปีผ่านไป พืชกระท่อมก็ถูกปลดล็อกให้ใช้ได้อย่างเสรีในปี 2021 นี่เอง
.
ตามตำรับโบราณพืชกระท่อมสามารถนำมาใช้ปรุงยาได้ทุกส่วน แต่สำหรับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในปัจจุบัน จะเน้นไปที่ ‘ใบ’ เพราะในใบมีสาร ‘ไมทราไจนีน (Mitragynine)’ สารจำพวกอัลคาลอยด์ที่มีเฉพาะในกระท่อม ออกฤทธิ์บรรเทาปวดและป้องกันการอักเสบ นอกจากนี้ยังพบอีกสารสกัดที่สำคัญอย่าง ‘เซเว่นไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine)’ ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการตอบสนองต่อความเจ็บปวด คล้ายกับมอร์ฟีน แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าและติดได้ช้ากว่า ด้วยเหตุผลนี้นักวิจัย รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่ดูแลพืชเสพติด จึงเล็งเห็นถึงศักยภาพของพืชสมุนไพรชนิดนี้และมีแนวคิดทำเป็นยาทางการแพทย์มานานแล้ว ติดอยู่ที่ข้อจำกัดทางกฎหมาย
.
ข่าวดีก็คือ ล่าสุดทีมวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลาที่ได้ทดลองและวิจัยพืชกระท่อมมาตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน พัฒนาจนได้เป็นเภสัชตำรับ เพื่อทำเป็นยาบำบัดผู้เสพยาเสพติด, ยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมถึงยาอีกหลายชนิดในอนาคต แม้ตอนนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนศึกษาเพิ่มเติมและทดลอง แต่ทางทีมคาดว่านี่จะเป็นยาจากใบกระท่อมตัวแรก หากไม่นับสูตรตำรับที่เป็นแพทย์พื้นบ้าน
.
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ช่วยยืนยันสถานะว่าที่พืชเศรษฐกิจของใบกระท่อมได้เป็นอย่างดี
ยิ่งปลดล็อกแล้ว โอกาสในการวิจัยและศึกษาเพื่อการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ก็เปิดกว้างขึ้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่าพืชกระท่อมจะต่อยอดไปสู่ตัวยาที่ช่วยรักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยให้แก่ผู้คนได้อย่างไรบ้าง ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นอนาคตที่สำคัญของวงการแพทย์ก็เป็นได้
.
จบการรายงานข่าว HTT Monday News ประจำวันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564 ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามข่าวสารสุขภาพไปพร้อมกันกับเรา
.
สนับสนุนข่าวสารดี ๆ แบบนี้โดย Health Tech Thailand 2021